การใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

การสัมมนาเรื่อง “การใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม”

พุธที่ 11 มกราคม 2549
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความเป็นมา
สืบเนื่องจาก สนช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้านการผลิตและการใช้ ประโยชน์จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพด้านการ เกษตร สนช. จึงได้จัดการสัมมนานี้ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ/เกษตรกรทั่วไปได้เล็งเห็นถึง ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

ประเด็นสำคัญ

  • แบคทีเรียสังเคราะห์แสง (photosybthetic bacteria; PSB) พบกระจายทั่วไปในธรรมชาติ ตามแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม ทะเลสาบน้ำเค็ม น้ำทะเลสาบที่มีความเป็นด่าง น้ำที่มีความเป็นกรด น้ำพุร้อน น้ำทะเลบริเวณขั้วโลกเหนือ นอกจากนี้ยังพบตามแหล่งน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำ บทบาทของแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมีความสำคัญในกระบวนการนำก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ไปใช้ (CO2 – assimilation) และการตรึงไนไตรเจน (nitrogen fixation) นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารซึ่งสัตว์ขนาดเล็ก ปลา กุ้ง หอย และปู สามารถนำแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมาใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้ในน้ำเสียจากบ้านเรือนและน้ำเสียจากการทำปศุสัตว์สามารถบำบัดด้วย แบคทีเรียสังเคราะห์แสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แบคทีเรียสังเคราะห์แสงสามารถผลิตสารกําจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงชีวภาพคือ สาร5-aminolevulinic acid (ALA) ซึ่งแบคทีเรียสังเคราะห์แสงสีม่วงกลุ่มไม่สะสมกํามะถันที่ผลิตสารนี้ เช่น Rhodobacter palustris Rhodobacter sphaeroides
  • นอกจาก ALA จะใช้เป็นสารกำจัดวัชพืช ปัจจุบันได้มีการทดลองการใช้ ALA ที่ผลิตจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมาใช้รักษามะเร็งในส่วนต่างๆเช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปาก เป็นตัน
  • แบคทีเรียสังเคราะห์แสงสามารถนำมาใช้เป็นสารเสริมในอาหารสัตว์ (feed additive) เนื่องจากว่าในเซลล์แบคทีเรียที่มีปริมาณโปรตีนสูงถึงร้อยละ 60-65 ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสัตว์ครบถ้วน และยังมีวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 กรดฟอลิค วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินอี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผสมในอาหารไก่ไข่ ซึ่งไข่ที่ออกมา สีของไข่แดงจะแดงดูน่ารับประทาน และเมื่อนำไปผสมในอาหารเลี้ยงปลา พบว่าปริมาณไข่ของปลามีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • แบคทีเรียสังเคราะห์แสงสามารถสังเคราะห์ยูบิควิโนน (ubiquinone ; UQ10) ขึ้นภายในเซลล์ได้ โดยแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่นิยมนำมาใช้ผลิต เช่น Rhodocyclus gelatinosus Rhodobacter capsulatus Rhodospirillum rubrum ฯลฯ ซึ่งยูบิควิโนนที่สกัดจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงนำมาเป็นอาหารเสริมในผู้ ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
  • แบคทีเรียสังเคราะห์แสงสามารถนำไปใช้บำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานมันสำปะหลัง ซึ่งพบว่าสามารถลดค่าซีโอดี(ค่าความสกปรกของน้ำเสีย)ได้มากถึง 94.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้แบคทีเรียเป็นหัวเชื้อในปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ความสามารถในการกำจัดความสกปรกในน้ำเสียเพิ่มสูงขึ้นเป็น 96.45 เปอร์เซ็นต์
  • หลักสำคัญในการนำแบคทีเรียสังเคราะห์แสงไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
    • การนำแบคทีเรียสังเคราะห์แสงไปใช้งานต้องเหมาะสมกับพื้นที่ที่ต้องการนำไปใช้งาน
    • บริษัทที่ต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสง ต้องมีทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถในการผลิตและพัฒนาแบคทีเรียสังเคราะห์แสง
    • ผู้ประกอบการจะต้องลงในการส่วนการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการนำแบคทีเรีย สังเคราะห์ไปใช้
  • สำนักงานตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนา การนำแบคทีเรียสังเคราะห์แสงไปใช้ในด้านต่างๆในประเทศไทย ดังนี้
    • ใช้เป็นสารเสริมอาหารสัตว์ (Feed additive) เช่น ใช้เป็นโปรไบโอติก และพัฒนาการใช้ใน อาหารสัตว์เล็ก เช่น สุนัข และแมว เพื่อลดกลิ่นในมูล เป็นต้น
    • ใช้เพื่อกำจัดกลิ่นมูลสัตว์ และกลิ่นของน้ำเสีย
    • พัฒนาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
    • ใช้เพื่อบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานผลิต อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
    • จัดทำแผนสำรวจความเป็นไปได้ของการพัฒนาการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์ แสงใน ประเทศไทย เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
This entry was posted in ไม่มีหมวดหมู่. Bookmark the permalink.