ข่าวจากเดลินิวส์ ไรซ์เบอรี่โมเดล เพิ่มมูลค่าข้าวไทย ไม่ง้อรับจำนำ

http://www.dailynews.co.th นวัตกรรมการแปรรูปข้าวไรซ์เบอรี่มูลค่าสูงครบวงจร

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอรี่ จังหวัดลำพูน ดำเนินโครงการนำร่อง “นวัตกรรมการแปรรูปข้าวไรซ์เบอรี่มูลค่าสูงครบวงจร”

“นายศุภชัย หล่อโลหการ” ผู้อำนวยการ สนช. บอกว่า ชาวนาไทยประสบกับปัญหาราคาข้าวผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง สนช. จึงส่งเสริมให้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยมีวงเงินลงทุนในโครงการเบื้องต้น 98.5 ล้านบาท

เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไรซ์เบอรี่ ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและมาตรฐานสูงเบื้องต้นมีอยู่ 5 ชนิด คือ น้ำมันรำข้าวไรซ์เบอรี่บรรจุในซอฟท์เจลที่มีแกมม่าออไรซานอลสูง รำข้าวไรซ์เบอรี่อัดเม็ดที่มีใยอาหารและแกมม่าออไรซานอลสูง ข้าวไรซ์เบอรี่ขัดบรรจุถุง พาสต้าจากปลายข้าวที่มีโปรตีนสูงไขมันต่ำ และเชื้อเพลิงชีวมวลจากแกลบข้าวไรซ์เบอรี่ที่ให้พลังงานความร้อนสูง

เน้นการพัฒนาตามหลัก “ของเสียเหลือศูนย์ (zero waste)” ด้วยการประยุกต์ใช้ระบบ “ธุรกิจอัจฉริยะและระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (business intelligence & traceability)” ซึ่งเป็นระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับนำไปใช้วิเคราะห์และแสดงผลต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้งาน และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ของธุรกิจได้

รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าว เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวไรซ์เบอรี่และผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้ กับสินค้าเกษตรอื่น ๆ ของไทย

ผอ.สนช. บอกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรขายข้าวหอมมะลิ 1 ตัน ได้ราคาจากการรับจำนำ 15,000 บาท (ต้นทุน 6,000 บาทต่อตัน) คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 9,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก แต่ราคาข้าวไรซ์เบอรี่ 1 ตัน มีมูลค่าถึงตันละ 25,000 บาท ดังนั้น กำไรสุทธิจะได้ประมาณ 19,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ซึ่งถ้านำข้าวไรซ์เบอรี่มาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นข้าวกล้องบรรจุถุงเพื่อ จำหน่าย รวมกับส่วนเหลือทิ้ง ได้แก่ ปลายข้าว และแกลบ จะได้กำไรสุทธิ 36,000 บาทต่อตัน

และหากใช้ระบบการบริหารจัดการข้าวไรซ์เบอรี่ในรูปแบบใหม่นี้ สามารถสร้างกำไรสุทธิจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปได้สูงถึง 86,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นอย่างมาก

ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดี และลดปัญหาความเดือดร้อนจากความผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลกได้อีกด้วย.

This entry was posted in ไม่มีหมวดหมู่. Bookmark the permalink.