จุลินทรีย์กับขี้ควายทำให้หายโง่!

หลังจากบทความเรื่อง “ช็อกเทอราปีที่ชื่อน้ำ” ลงตีพิมพ์ที่นี่เมื่อวันพุธที่ 23พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้นำเสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเชิงรุกโดยส่งเสริมให้มีพื้นที่น้ำประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรโดยให้ชาวบ้านขุดบ่อขุดสระกระจายไปทั่วประเทศทันที ซึ่งจะเก็บรวมน้ำได้มากกว่าเขื่อนที่มีอยู่ในประเทศในปัจจุบันกว่า 3 เท่า ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยเข้ามามากมาย แต่มีข้อสังเกตุตรงกันจากหลายๆท่านเกรงว่าเมื่อขุดไปแล้วจะกลายเป็น “สระลม” เพราะกักเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน ก็คงขุดชุดความรู้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจะเอาชนะธรรมชาติเข้าแก้ปัญหาโดยคิดใช้แผ่นพลาสติกปูพื้นก้นบ่อ ซึ่งก็มีทั้งชนิด PE, LDPE, PVC ราคาตารางเมตรละประมาณ 20 บาทขึ้นไปจนถึง 200 กว่าบาท หรืออาจคิดไกลไปถึงการสร้างบ่อคอนกรีตต้นทุนแพงมหาศาล จนโครงการต้องค่อยๆดำเนินการวิ่งตามแก้ปัญหาไม่ทันเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ

 

แต่เมื่อนึกถึงตอนที่เดินทางไปภาคเหนือเพื่อเยี่ยมเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างแวะเยี่ยมเกษตรกรตายายคู่หนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มนักศึกษามาออกค่ายอาสาช่วยสร้างบ้านดินและขุดสระเก็บน้ำ คุณตาได้ปรารภในวงสนทนาเช่นเดียวกับผู้หวังดีที่กล่าวถึงว่า ในช่วงแรกสระน้ำอาจจะเก็บน้ำไม่อยู่ อาจใช้เวลาหลายปีกว่าน้ำจะเต็ม ซักครู่ก็มีเสียงดังเหมือนของหนักๆตกลงในน้ำ เมื่อมองไปตรงที่ที่ห่างไปประมาณ 100 เมตรก็เห็นเจ้าควายตัวหนึ่งกำลังพลิกตัวในบ่อเล็กๆทำให้น้ำพุ่งกระจายขึ้นมาให้ทุกคนได้เห็น เมื่อถามคุณตาคุณยายว่าทำไมน้ำในบ่อนั้นจึงขังอยู่ได้ไม่รั่วซึมหมดไป คุณยายก็เฉลยว่า ก็ขี้ควายไง ตรงบริเวณนั้นเป็นบ่อหญ้าที่ลึก มีควายไปถ่ายเอาไว้แล้วก็ย่ำอยู่ตลอดในน้ำขัง คงจะเป็นเหมือนแผ่นรองก้นบ่อกันน้ำรั่ว แล้วยายยังเล่าต่ออย่างมั่นใจว่าสมัยก่อนรุ่นพ่อของคุณยายสานชะลอมขึ้นจากไม้ไผ่แล้วเอามูลวัวควายมายาไว้จนทั่ว ทำหน้าที่เหมือนชันยาอุดรูรั่วแล้วตากแห้งเพื่อเป็นภาชนะใส่น้ำไปกินใช้ในไร่นา เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของขี้วัวขี้ควายว่าสามารถเก็บน้ำอยู่ ภูมิปัญญาเรื่องมูลสัตว์ที่ช่วยทำให้บ่อเก็บน้ำอยู่ก็หลั่งไหลพรั่งพรูออกมาอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่นการเลี้ยงเป็ดจำนวนมากในสระน้ำหลังขุดใหม่ๆ แล้วทะยอยสูบน้ำเข้า เมื่อแห้งก็เติม ส่วนเป็ดก็ทำหน้าที่ทั้งถ่าย กิน ย่ำไม่นานก็เก็บน้ำได้ดี

 

หลังจากปี 2529 ที่ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ แนะนำการใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่เรียกว่า “อีเอ็ม” (EM – Effective Micro-organism) เข้าสู่ประเทศไทย เป็นเวลาร่วม 20 ปีที่คนไทยกลุ่มต่างๆได้ศึกษาค้นคว้าทดลองพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์กลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง โดนเฉพาะเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและการบำบัดน้ำเสีย แต่ก็ยังนับเป็นแค่คนกลุ่มย่อย เป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบเท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมีและการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีอื่นๆ เช่นเคมีบำบัดและวิธีการกรอง จนในที่สุดสถานการณ์ก็สร้างวีระบุรุษ สถานการณ์วิกฤตน้ำเน่าเสียจำนวนมากมายมหาศาลก็สร้างจุลินทรีย์ให้เป็นฮีโร่เข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลายทลายกำแพงปัญญาความเชื่อเดิมๆ มีน้ำหมักจุลินทรีย์หลายล้านลิตร ลูกบอลจุลินทรีย์หลายล้านลูก ถูกส่งลงไปปฏิบัติการบำบัดน้ำเสียในชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ตั้งแต่กลุ่มที่ยังคงชื่อเดิมว่า EM, พด. 6 (กรมพัฒนาที่ดิน), DASTA (อพท.), EMRO (ที่ทหารบกใช้), อะตอมมิคนาโน หรือ สรรพสิ่ง (เทคโนโลยีสรรพสิ่ง) หรือ ระเบิดจุลินทรีย์รสจืด (กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ) แต่ละกลุ่มแต่ละเครือข่ายล้วนมีพื้นฐานจิตอาสาต้องการฟื้นฟูความสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติและต่างได้เพียรให้ความรู้ส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้จริงจนมีผลในการปฏิบัติเป็นรูปธรรมความสำเร็จไปได้มากมาย

 

นอกจากการใช้บำรุงดินแทนปุ๋ยเคมีและการบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ เช่นการช่วยให้ชาวบ้านหนองระเวียง นครราชสีมา ใช้จุลินทรีย์ที่เรียกสรรพสิ่งของ คุณอดิศร พวงชมพู และ อาจารย์กิตติ์ธเนศ รังคะวรเศรษฐ์ โดยวิธีง่ายๆด้วยการนำดินก้นบ่อที่เก็บน้ำไม่อยู่มาหมักผสมกับจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ตากให้แห้ง แล้วใส่กลับลงไป เปรียบเสมือนการเอาจุลินทรีย์เดิมก้นบ่อมาแต่งงานกับจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีแล้วเกิดลูกหลานในอัตราเร่งที่สูงมาก จึงเกิดซากจุลินทรีย์รวมกับซากแพลงก์ตอนสาหร่ายทับถมกันทำให้เกิดโคลนตมที่กลายเป็นเหมือนพลาสติกรองก้นบ่อจนเก็บน้ำได้

 

เมื่อนำเอาผลของการใช้มูลสัตว์ชนิดต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นที่ให้ผลลัพธ์เดียวกันในการทำให้บ่อเก็บน้ำได้ จึงน่าจะเพียงพอที่จะทำให้ท่านที่ยังเป็นห่วงว่าหากส่งเสริมให้ขุดสระเป็นเขื่อนตาข่ายน้ำไปทั่วประเทศแล้วจะกลายเป็นสระลมไม่มีน้ำ ได้คลายความกังวลลงแล้วมาร่วมกันสนับสนุนผลักดันเทคโนโลยีต้นทุนต่ำปฏิบัติได้จริงเหมาะที่จะส่งเสริมสู่คนส่วนใหญ่ ไม่ยุ่งยาก แต่ได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักคิด นักวิชาการ และผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายจะได้มุ่งความสนใจให้เกิดการวิจัยค้นคว้าองค์ความรู้เรื่องจุลินทรีย์ เพื่อส่งเสริมกลุ่มขับเคลื่อนต่างๆที่ทำการวิจัยเชิงประจักษ์ให้เห็นแล้วได้มีผู้สนับสนุนที่มีทั้งคน อุปกรณ์ และงบประมาณที่เหนือกว่า โดยตัดอคติก้าวออกจากโมหะภูมิ เปิดใจรับการเรียนรู้ซึ่งกันและกันประกอบเป็นชุดความรู้ใหม่ที่สมบูรณ์ได้รับทั้งประโยชน์และมีการป้องกันผลกระทบหรือโทษที่จะตามมาให้รอบด้านอย่างแท้จริง +++

จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ หุ้นส่วนประเทศไทย ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2554
ขอบคุณที่มา บันทึกของ ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์